วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2552

ตำนานพระเจ้านั่งดิน




ในสมัยหนึ่ง มีพญาผู้ครองเมืองชะราวหรือพุทธรสแห่งนี้ ไม่ปรากฏชื่อไว้ในประวัติตำนาน เป็นผู้ได้ค้นพบประวัติตำนานของพระนั่งดินเมื่อปีพุทธศักราช 1213 ตัวปีล้วงไก๊เดือนโหราแรม 3 ค่ำ วันจันทร์ แล้วก็ได้คัดลอกเอาประวัติและตำนานนี้ จารึกใส่ใบลานแล้วนำไปถวายไว้ ตามวัดวาอารามหลายที่หลายแห่งด้วยกัน เพื่อช่วยกันเก็บรักษาไว้ ไม่ให้ประวัติตำนานนี้สูญหายไป รักษาให้ประชาชนคนรุ่นหลังได้รับรู้ความเป็นมาของปูชนียสถานที่สำคัญแห่งนี้ โดยทั่วกัน ประวัติและตำนานกล่าวไว้อย่างนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากได้บรรลุธรรมแล้วพระองค์ก็เสด็จออกเที่ยวประกาศพระธรรมคำสั่งสอน แก่ชาวโลกไปตามคามนิคมน้อยใหญ่ทุกแห่งหน นับตั้งแต่เมื่อง1พาราณสีเป็นต้น เรื่อยมามิได้ขาดมีผู้คนได้รู้แจ้งเห็นจริง ตามพระธรรมคำสอนพระพุทธองค์ เป็นจำนวนมากมาย พอพระองค์มีพระชนมายุย่างเข้า 60 พรรษา ก็ได้ทรงรำพึงในพระทัยว่า บัดนี้ความชราภาพของร่างกายก็ปรากฏขึ้นบ้างแล้วใกล้จะเสร็จดับขันธ์ปรินิพาน เข้ามาทุกทีๆ สมควรเสด็จเที่ยวไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาทั่วทุกแว่นแคว้นน้อยใหญ่ให้ได้รับ ความร่มเย็นเป็นสุข ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงพระดำริเช่นนี้แล้วก็ได้ตรัสบอกแก่พระอรหันต์สาวก ให้รับทราบ

ในวันต่อมา พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกและพระอานนท์ ผู้เป็นพระพุทธอุปัฏฐาก ตามเสด็จไปทั่วทุกคามน้อยใหญ่ จนบรรลุถึงสวรรณภูมิประเทศเมืองโยนกล้านนาในปัจจุบัน ทุกๆ แห่งที่พระพุทธองค์เสด็จไปถึง ได้ประทานซึ่งพระเกศา (เส้นผม) ของพระองค์เพื่ออนุญาตให้พุทธศาสนิกชนเก็บบรรจุไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่พระองค์ทราบและเห็นว่าสมควรไว้สักการะบูชาแทนพระองค์

เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาถึง เมืองชะราวหรือเมืองพุทธรส (เมืองเชียงคำปัจจุบัน) ได้เสด็จประทับอยู่ที่ดอยสิงกุตตระ (ดอยคำ) ขณะที่ประทับอยู่นั้น ในปัจฉิมราตรีหนึ่งชายยากไร้คนหนึ่งมีนามว่าคำแดงได้ปรากฏในข่ายพระญาณของ พระองค์ว่า จักเป็นผู้มีบุญมีอำนาจวาสนาในวันเวลาเร็วๆ นี้ พอสว่างแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดชายผู้ยากไร้คนนั้นครั้นเมื่อเสด็จไป ถึงแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงโปรดแสดงธรรมให้ฟัง จบแล้วนายคำแดงก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ได้แสดงตนเป็นอุบาสกในพุทธศาสนา

นายคำแดง มีความประสงค์ให้พระองค์ประทับอยู่ในเมืองแห่งนี้ตลอดไปแต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ จะเสด็จไปประกาศพระศาสนาอีกหลายแคว้น และพร้อมกันนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสกับนายคำแดงว่า จงปั้นรูปเราตถาคตไว้แทนเถิดจักเกิดผลานิสงฆ์อันใหญ่หลวง คนทั้งปวงก็จะได้มาสักการะบูชา นายคำแดง มีความดีใจอย่างมากที่ได้รับสั่งเช่นนั้นแล้ว กราบทูลถามว่าจะให้กระทำอย่างไรจึงจะเป็นการสมควรและเหมาะสม พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสสั่งแก่พญาอินทร์ พญานาค ฤาษี และพระอรหันต์อีก 4 รูป ให้ไปเอาดินที่เมืองลังกาทวีป เอามาให้แก่นายคำแดงผู้ยากไร้ ปั้นพระพุทธรูปดังกล่าว ครั้งเมื่อได้ดินมาแล้วนายคำแดงก็ปั้นด้วยตนเอง ให้เวลาปั้นนานถึง 1 เดือน กับ 7 วัน จังเสร็จ

กล่าวถึงพระพุทธเจ้า พอตรัสสั่งให้พญาอินทร์ พญานาค ฤาษีและพระอรหันต์ไปเอาดินมาให้นายคำแดง แล้ว พระพุทธองค์ก็เสด็จไปประกาศศาสนาในแคว้นอื่นต่อไป ในเมื่อพระองค์ทราบด้วยจักษุโสตะทิพย์ว่า บัดนี้นายคำแดงได้ทำการก่อปั้นสารูปเสร็จแล้วจึงเสด็จมาสู่เมืองชะราวแห่ง นี้อีก และได้ทอดพระเนตรเห็นรูปปั้นไม่ได้สัดส่วน จึงตรัสสั่งให้นายคำแดงแก้ไขและเพิ่มเติมให้ถูกต้อง ขนาดใหญ่เท่ากับพระองค์จึงมีอิทธิฤทธิ์รุ่งเรืองงาม เมื่อนายคำแดงได้ทำการแก้ไขและเพิ่มเติมได้สัดส่วนดีแล้วพระพุทธรูปก็ได้ แสดงฤทธิ์ให้ปรากฏ โดยเสด็จลงจากพระแท่นแล้วแสดงความเคารพพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทอดพระเนตรแล้วว่า พระพุทธรูปมีเดชฤทธิ์เช่นนี้แล้ว จึงได้ตรัสสั่งกับพระสารูปนั้นด้วยความว่า ขอให้รูปของเราตถาคตนี้จงอยู่เฝ้าศาสนาให้ครบ 5,000 พรรษาเถิด ศาสนานี้เป็นของเราแล้ว

ในขณะนั้นก็มีพญาผู้ครองเมือง ตลอดถึงเหล่าเสนาอำมาตย์ไพร่ฟ้าประชาชนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมให้แก่ชนทั้งหลายครั้งเมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งว่าสถานที่แห่งใดเป็นที่ชุมชน มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมากขอให้จงพากันอาราธนาอัญเชิญ รูปของเราตถาคตนี้ไปประดิษฐานไว้ที่แห่งนั้น เพื่อให้คนทั้งหลายได้ไปสักการะบูชา บำเพ็ญกุศลให้ทานรักษาศีล เจริญเมตตา ภาวนา ให้เป็นปัจจัยบรรลุมรรคผลนิพพาน และบ้านเมืองก็จักอยู่เย็นเป็นสุขสืบไป

ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสั่งเช่นนี้แล้วก็ได้เสด็จออกเที่ยวจาริก เพื่อประกาศพระศาสนาในแว่นแคว้นอื่นต่อไป เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวกทั้งหลายได้เสด็จไปแล้วท้าวเสนาอำมาตย์ ประชาราษฎร์ทั้งหลายจึงได้พร้อมกันกราบอาราธนาอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวไป ระดิษฐานไว้ในเมืองพุทธรส ซึ่งเป็นประชาชนผู้คนอยู่หนาแน่น สถานที่กว้างขวางเหมาะสมทุกประการ (บริเวณที่แห่งนั้น คือ สถานที่ตั้งวัดพระนั่งดินปัจจุบัน) พอได้อัญเชิญพระพุทธรูปเข้าประจำสถานที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้กระทำพิธีมอบสถานที่ดังกล่าวทั้งหมดเป็นเขตแดนพระพุทธศาสนาถวายเป็น พุทธบูชา แด่องค์สัมมาพระพุทธเจ้าแล้วประกาศไว้ว่า สถานที่บริเวณแห่งนี้ไม่ว่าท้าวพญาเสนาอำมาตย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายไม่ควรอยู่อาศัยเพราะได้ยกถวายแก่พระพุทธรูปแล้ว นับตั้งแต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงเรียกกันว่า วัดพระเจ้านั่งดินบ้าง วัดพระนั่งดินบ้าง ที่เรียกเช่นนั้นเพราะพระพุทธรูปเสด็จลงจากบัลลังก์ หรือพระแท่นแสดงความเคารพพระพุทธเจ้าแล้วไม่ยอมประทับบัลลังก์ ทรงประทับกับพื้นจนตราบเท่าทักวันนี้

กล่าวถึงนายคำแดง ผู้ก่อปั้นพระพุทธรูปดังกล่าว อยู่ต่อจากนั้นมาไม่นานก็ได้อภิเษกเป็นพญาผู้ครองเมืองชะราว หรือเมืองพุทธรส มีนามว่า พญาคำแดง ปรากฏว่ามีบุญญาบารมีแก่กล้า มีอำนาจวาสนายิ่งกว่าพญาหัวเมืองทั้งหลาย ได้ปกครองประชาชนโดยศีลธรรมเป็นที่รักและเคารพนับถือของไพร่ฟ้าประชาชน


คติและแนวคิด


เป็นความศรัทธาเชื่อมั่นในศาสนาของประชาชน ทำให้ประชาชนที่นับถือมีความเลื่อมใส และเคารพสิ่งที่ประชาชนเห็นว่าศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์รวมความรักและสามัคคีอย่างหนึ่ง

ตำนานผีป่าผีเมือง : เชียงคำ

ตำนานผีป่าผีเมือง:เชียงคำ

ด้วยความสมบูรณ์ของชีวิตและความผูกพันต่อสายน้ำและป่าไม้ ชุมชนบ้านคุ้มได้รวมตัวกันรักษาประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การเลี้ยงผีขุนน้ำและบวชป่าสืบชะตาต้นไม้ประจำทุกปี และที่โดดเด่นคือ การฟังเทศน์กลางแม่น้ำ หรือพระธรรมเทศนาพื้นเมืองเรื่องมัจฉาพระยาปลาช่อน ซึ่งริเริ่มโดยพระครูขันติวชิรธรรม เจ้าคณะตำบลร่มเย็น อันเป็นธรรมเทศนาขอฟ้าฝนตามคติโบราณที่ถือว่าใช้เทศน์ให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล

อดีตกาลผ่านมากว่า 700 ปี เมืองเชียงคำ หรือเมืองชะราว หรือเมืองพุทธรส มีผู้ปกครองเมืองนับตั้งแต่พญาคำแดงเป็นต้นมา เล่าสืบกันว่าเมืองแห่งนี้ คือ ชุมชนบ้านคุ้ม บ้านสบสา บ้านหนอง บ้านร้อง บ้านโจ้โก้ ในเขตตำบลร่มเย็น ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาในปัจจุบันนี้เอง

ในตำนานที่อ้างถึงเมืองพุทธรสแห่งนี้ (ตำนานพระธาตุดอยคำ ตำนานวัดพระนั่งดิน ตำนานสิงหนวัตร และตำนานพระธาตุสบแวน) ได้ลำดับเรื่องราวของการสร้างบ้านแปงเมืองโดยผู้ปกครองเมืองที่มีความซื่อสัตย์สุจริต และเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองสืบทอดกันมายาวนาน และแม้บางช่วงบางเหตุการณ์เช่นกัน ที่มีผู้ปกครองเมืองใจชั่วหยาบช้ากดขี่ประชาราษฎร จึงถูกฟ้าดินลงโทษทัณฑ์ แต่เมืองเชียงคำก็สงบสุขร่มเย็นและผ่านพ้นวิกฤตการณ์อันเลวร้ายเหล่านั้นมาได้ตราบเท่าทุกวันนี้

ในปัจจุบันแม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และร่องรอยของตำนานที่เล่าขานสืบกันมาจะทรุดพังและถูกทำลายลงตามเหตุแห่งสมัย แต่สิ่งที่ปรากฏเป็นความสง่างามเหนือชุมชนแห่งนี้คงยังมีให้ลูกหลานมองเห็นอยู่บ้าง อาทิ พระธาตุดอยคำ อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวเชียงคำทุกคน

อย่าง ไรก็ตามจากคำบอกเล่าของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยและพระสงฆ์ในชุมชนแห่งนี้ หลายท่านระบุว่า ก่อนที่จะมาเป็นชุมชนบ้านคุ้ม-บ้านสบสานั้น ชุมชนดั้งเดิมตั้งอยู่บริเวณป่าเหนือหมู่บ้านขึ้นไปอีกราว 2-3 กิโลเมตร ที่เรียกว่า "ป่าห้วยน้ำสา" โดยบริเวณดังกล่าวพบซากอิฐเก่าของวัดร้างและเศษพระพุทธรูปจำนวนมาก เท่าที่ปรากฏให้เห็น ได้แก่ วัดพระธาตุทุ่งสา อยู่บริเวณป่าห้วยน้ำสา จากปากคำของพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยเล่าว่า ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีแสงคล้ายดวงแก้วลอยขึ้นมาในบริเวณพระธาตุนั้น แล้วค่อย ๆ เคลื่อนมาวนเวียนที่พระธาตุดอยคำ จากนั้นก็ลอยมาที่วัดคุ้ม ลอยต่อไปยังวัดพระนั่งดิน และกลับมาเช่นเดิม เป็นอย่างนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว นอกจากนี้ในบริเวณนั้นชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงประหลาดคล้ายเสียงฆ้อง เสียงกลองตีดังสนุกสนานเหมือนงานวัดอยู่บ่อย ๆ เช่นกัน วัดโป่งหนองขอน อยู่บริเวณไม่ห่างไกลจากวัดพระธาตุทุ่งสานัก ตามคำบอกเล่าได้ระบุว่ามี "บ่อจืน" (บ่อตะกั่ว) ในบริเวณนั้นด้วย ที่แห่งนั้นจะเป็นที่ถลุงเงิน ถลุงทองคำในอดีต ซึ่งตำนานได้กล่าวถึงสายแร่ทองคำในเขตนี้ด้วย ต่อมาชาวบ้านได้ถมบ่อนี้เพราะวัวควายมักจะตกลงไป

วัด ห้วยถ้ำอยู่บริเวณห้วยถ้ำหรือ "ดอยโป้ด" (ภูเขาถล่ม) ที่แห่งนี้เล่าว่า มีถ้ำที่เก็บพระพุทธรูปและวัตถุโบราณหลายอย่างในช่วงสงครามพม่า (ประมาณ พ.ศ. 2101) แต่ต่อมาน้ำได้เซาะดินเกิดถล่มปิดถ้ำไว้ หลายปีต่อมามีชาวบ้านรุ่นหลังไปขุดค้นและขโมยพระพุทธรูปออกมาได้จำนวนไม่ น้อย บางส่วนก็เก็บรักษาบูชาที่วัดคุ้ม

นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบพระพุทธรูปออกมาได้จำนวนไม่น้อย บางส่วนก็เก็บรักษาบูชาที่วัดคุ้ม

นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบพระพุทธรูปและข้าวของเครื่องใช้ในสมัยโบราณได้ที่บริเวณ "วังกว๊าน" ปัจจุบันเป็นที่สวนและไร่นาของชาวบ้านไปแล้ว เล่ากันว่า เมื่อประมาณ 40 ปีก่อน "พ่ออุ๊ยหม่องคำ" ได้พบพระพุทธรูปทองจำนวนมากในบริเวณนี้โดยบังเอิญ ชาวบ้านแห่ไปขุด แต่ปรากฏว่ามีแต่ผงขี้เถ้า

พระครูขันติวชิรธรรม ปราชญ์พระสงฆ์ เจ้าคณะตำบลร่มเย็น เล่าให้ฟังว่า นอกจากพุทธสถานต่าง ๆ แล้ว บริเวณนี้ยังปรากฏร่องรอยของการทำการเกษตรของชุมชนดั้งเดิมด้วย คาดว่าจะเป็นการทำนา เพราะปรากฏมีคันนาบางแห่งซึ่งขณะนี้ได้ฟื้นเป็นป่าไปหมดแล้ว พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหลายคนเล่าว่า บริเวณป่าห้วยสา ยังมีบริเวณที่เรียนกว่า "ทุ่งทัพ" อันเป็นที่พักของกองทัพที่มาตั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยปรากฏมีร่องน้ำหนึ่งชื่อ "ร่องขี้ม้า" แสดงว่าอาจจะมีกองทหารม้ามาตั้งอยู่ที่นี่ด้วย นอกจากนั้นยังมีทุ่งเลี้ยงสัตว์ และแหล่งน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า "กอดสองห้อง" และ"กอดป่าครั่ง"

พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยหลายท่านช่วยกันวิเคราะห์ว่า การโยกย้ายวัดและชุมชนจากป่าห้วยสา ลงมาสู่บ้านคุ้มนั้นน่าจะมีสาเหตุมาจากการถูกรบกวนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะเป็นไชยภูมิในการรบหนึ่ง เนื่องจากบริเวณบ้านคุ้มมีสาขาน้ำยวนและร่องลำห้วยมากมาย เหมาะจะเป็นคูป้องกันข้าศึกได้ หรืออาจจะเป็นเพราะสมัยก่อนมีสิงสาราสัตว์มากชอบออกมารบกวนสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านหนึ่ง หรืออาจจะเพราะมีพื้นราบมาก มีพื้นที่ชุ่มน้ำ "หนอง" ได้รับน้ำจากหลายสาย ฯลฯ

หลังจากนั้นหนองและร่องน้ำบางสายก็ตื้นเขิน จึงมีการขยายชุมชนและมีราษฎรจากที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะจากจังหวัดน่านอพยพมาตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมอีก ชุมชนบ้านคุ้มและบ้านสบสาก็ขยายเป็นบ้านหนอง บ้านร้อง บ้านโจ้โก้ ฯลฯ

ในส่วนชุมชนเก่าแก่ที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่านั้นก็กลับฟื้นเป็นป่าที่สมบูรณ์ กลายเป็นป่าใช้สอยหรือป่าชุมชนของชาวบ้าน แต่ในช่วงปี 2505 รัฐบาลกลับเปิดให้เอกชนสัมปทานป่าบริเวณนี้ ทำให้ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้ตะเคียนถูกโค่นล้มลงไปจำนวนมาก นายทุนได้ใช้ช้างลากติดต่อกันหลายปี จนมีชื่อบริเวณหนึ่งว่า "ปางช้าง"

อย่างไรก็ตามประมาณช่วงปี พ.ศ. 2512 พ่อหลวงหวัน จอมนาสวน ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านคุ้ม จึงประกาศให้ป่าห้วยสาเป็นเขตอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ห้ามมีการตัดไม้ทำลายป่าจากบุคคลภายนอกอย่างเด็ดขาด อนุญาตให้แต่เพียงคนในชุมชนที่ต้องการสร้างบ้านเท่านั้น แต่ก็ถูกท้าทายจากภายนอกบ้าง

สืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงสมัยที่นายเจริญ แจ้งสว่าง ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านประมาณปี 2533 ได้มีการตั้งกฎระเบียบป่าห้วยสาอย่างเข้มงวดอีกครั้ง มีการตั้งคณะกรรมการและลงโทษอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานราชการป่าไม้เข้าร่วมดำเนินงานด้วย จนทำให้ป่าผืนนี้สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงคำด้านตะวันออก

สำหรับป่าต้นน้ำห้วยสานี้ประกอบด้วยลำห้วยกว่า 10 สาขา ได้แก่ ห้วยถ้ำ ห้วยหวายฝาด ห้วยต้นหล้อง ห้วยแคแดง ห้วยครูบา ห้วยคาวตอง ห้วยน้ำบง ฯลฯ ไหลรวมกันเป็นห้วยน้ำสายาวประมาณ 30 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่การเกษตรกว่าหมื่นไร่ ในสองตำบลได้แก่ ตำบลร่มเย็นและตำบลเจดีย์ อันเป็นพื้นที่ผลิตข้าว ข้าวโพด หอมแดง สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ประชาชน ทั้งนี้น้ำสานั้นมีไหลตลอดทั้งปีทำให้ทำการเพราะปลูกพืชได้ทุกฤดู

ด้วยความสมบูรณ์ของชีวิต และความผูกพันต่อสายน้ำและป่าไม้ ชุมชนบ้านคุ้มได้รวมตัวกันรักษาประเพณีวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นการเลี้ยงผีขุนน้ำและบวชป่าสืบชะตาต้นไม้ประจำทุกปี และที่โดดเด่นคือการฟังเทศน์กลางแม่น้ำ หรือพระธรรมเทศนาพื้นเมืองเรื่องมัจฉาพระยาปลาช่อน ซึ่งริเริ่มโดยพระครูขันติวชิรธรรม เจ้าคณะตำบลร่มเย็น อันเป็นธรรมเทศนาขอฟ้าฝนตามคติโบราณที่ถือว่าใช้เทศน์ให้เกิดฝนตกต้องตามฤดูกาล

เรื่อง พระยาปลาช่อนนี้ มีเรื่องเล่าอยู่ว่า ณ ดินแดนแห่งหนึ่งได้เกิดความแห้งแล้งทุกข์เข็ญยิ่งนัก แม่น้ำแห้งขอดจนกาและแร้งสามารถบินลงมาจิกกินกุ้ง หอย ปู ปลาในหนองได้ นอกจากนี้ข้าวกล้าไร่นาผู้คนก็แห้งตายไม่มีเหลือ พระยาปลาช่อนผู้มีใจกุศล อันก็คือพระโพธิสัตว์ ก็ได้แสดงปาฏิหาริย์บังเกิดให้มีฝนฟ้าตกลงมาโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงการสั่งสอนให้มนุษย์มีใจรักในหมู่ญาติพี่น้องของตน เมื่อญาติพี่น้องมีทุกข์ตนเองก็จะต้องช่วยเหลือเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

ธรรมเทศนาปลาช่อนบทนี้อาจจะสอนใจคนในยุคสมัยปัจจุบันได้ดี หากทุกคนช่วยกันรักษาป่า รักษาแม่น้ำลำธาร ไม่ตัดไม้ทำลายแม่น้ำเพียงเพราะความเห็นแก่ตัวคนเดียว ซึ่งถ้ารักษาป่าก็หมายถึงการเกื้อกูลญาติพี่น้องนั่นเอง

ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้ เมืองของเราก็มั่นคงถาวร ปรากฏการณ์เล็ก ๆ ที่เมืองเชียงคำน่าจะพิสูจน์ให้เราประจักษ์ได้ไม่มากก็น้อย

โดย ชัยวัฒน์ จันธิมา ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ